คุณประโยชน์ของขมิ้นชัน ขิง และพริกไทยดำ

คุณประโยชน์ของขมิ้นชัน ขิง และพริกไทยดำ

คุณประโยชน์ของขมิ้นชัน ขิง และพริกไทยดำ

       ขมิ้นชันอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี วิตามินอี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และเกลือแร่ต่าง ๆ รวมไปถึงเส้นใย คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน เป็นต้น และขมิ้นชันมีสรรพคุณทางยาที่รักษาอาการและโรคต่างๆ ได้หลายชนิด มีประวัติในการนำมาใช้ในการรักษามากกว่า 5,000 ปี รวมถึงมีผลการวิจัยรองรับสรรพคุณเป็นจำนวนมาก

       ขมิ้นชันสกัดกับการดูแลระบบทางเดินอาหาร
       ขมิ้นชันสกัด มีฤทธิ์ต้านการเกิดแผล ในกระเพาะอาหาร และลำไส้ โดยกระตุ้นการหลั่ง mucin มาเคลือบ และยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยต่างๆ รวมถึงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบของสำไส้ใหญ่ และยังมีส่วนช่วยลดการหลั่งสารคัดหลั่งในกระเพาะอาหาร เพิ่มการหลั่งสารเมือกในกระเพาะอาหาร และป้องกันเยื่อบุทางเดินอาหารจากยาในกลุ่ม NSAIDS

       มีการศึกษาวิจัยประสิทธิผลของขมิ้นชันร่วมกับยา Omeprazole (ยาที่ออกฤทธิ์ช่วยลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร) เปรียบเทียบกับสูตรยามาตรฐานในการรักษาโรคแผลเป๊บติก (Peptic ulcer) หรือแผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหาร โดยผลการทดลองสรุปได้ว่าเมื่อใช้ขมิ้นชันร่วมกับยา Omeprazole สามารถรักษาแผลเป๊บติกได้ ลดอาการแสบร้อนท้องจากแผลเป๊บติก และมีความปลอดภัย ไม่แพ้ยามาตรฐานทางการแพทย์

       ข้อค้นพบจากงานวิจัย พบว่าขมิ้นชันสกัด สามารถบรรเทาอาการของผู้ป่วยอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) ที่มีอาการไม่สบายในหน้าอกหรือใต้ลิ้นปี่ รวมถึงอาการแน่นท้อง ท้องอืด และมีลมในท้อง ดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

       สารเคอร์คิวมินอยด์ในขมิ้นชันมักถูกอ้างถึงคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร และเป็นประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน จึงมีงานวิจัยบางส่วนที่ค้นคว้าเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารเคอร์คิวมินอยด์เปรียบเทียบกับยาตัวอื่นที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะในผู้ที่ติดเชื้อเอชไพโลไร และมีอาการจุกเสียดท้อง จำนวน 25 คน โดยให้รับประทานสารเคอร์คิวมินอยด์ 30 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงตรวจหาเชื้อเอชไพโลไรด้วยวิธีเป่าลมหายใจ ตรวจดูความรุนแรงของอาการต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ตรวจเลือด และตรวจหาสารภูมิต้านทานจากเชื้อเอชไพโลไร ผลพบว่าสารเคอร์คิวมินอยด์ช่วยลดอาการจุกเสียดท้องและลดการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่มีผลต่อการกำจัดเชื้อเอชไพโลไรในผู้ป่วย

       ขมิ้นชันสกัดกับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
       ข้อค้นพบจากงานวิจัย พบว่า เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างรับประทานขมิ้นชันสกัด วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารติดต่อกันนาน 6 สัปดาห์ มีประสิทธิผลและปลอดภัยในการรักษาผู้ป่วยอายุ 50-75 ปี ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม (knee osteoarthritis) และยังช่วยบรรเทาอาการความเจ็บปวดและช่วยฟื้นฟูความสามารถในการเคลื่อนไหว ไม่แตกต่างจากการรักษาด้วยการรับประทาน Ibuprofen ขนาด 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 6 สัปดาห์

       การศึกษาถึงประสิทธิภาพของสารเคอร์คิวมินอยด์เปรียบเทียบกับยาไดโคลฟีแนคต่อการหลั่งเอนไซม์ Cyclooxygenase-2 (COX-2) ในน้ำไขข้อของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม 80 คน กลุ่มแรกรับประทานสารเคอร์คิวมินอยด์ วันละ 30 มิลลิกรัม และอีกกลุ่มรับประทานยาไดโคลฟีแนค วันละ 25 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทาน 3 เวลาเช่นเดียวกันทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อครบ 4 สัปดาห์ จึงเจาะน้ำในข้อเข่าออกมาตรวจ เพื่อเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการรับประทาน ผลพบว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสารเคอร์คิวมินอยด์และยาไดโคลฟีแนคในการยับยั้งการหลั่ง COX-2 ซึ่งเป็นเอมไซม์ที่หลั่งเมื่อเกิดการอักเสบ ปวด และบวม จึงเชื่อว่าสารเคอร์คิวมินอยด์ อาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมได้ดีเช่นเดียวกับยา  

       ขมิ้นชันและขิงสกัดกับอาการกรดไหลย้อน
       งานวิจัย
       มีข้อค้นพบว่า ขิงสกัดมีฤทธิ์เพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อในทางเดินอาหาร และเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหาร  ทำให้เพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ เพิ่ม Gastric Emptying ไม่ทำให้เกิดการคั่งของอาหารและกรด จึงสามารถลดโอกาสในการไหลย้อนกลับของอาหารและกรดได้

       ขมิ้นชันสกัดกับคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง
       การวิจัยในระดับคลินิกกับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดื้อต่อเคมีบำบัด โดยให้ผู้ป่วยรับประทานขมิ้นชันสกัดวันละ 2-10 แคปซูล เป็นเวลา 4 เดือน พบว่าผู้ป่วยทนต่อยาได้ดี ไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ และมีค่า lymphocytic glutathione S-transferase activity ลดลง โดยไม่มีผลต่อการเกิด DNA adduct ในเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ยังมีการทดสอบขมิ้นชันสกัดกับผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง (high-risk หรือ pre-malignant lesion) โดยให้ผู้ป่วยรับประทานวันละ 0.5 กรัม ถึง 12 กรัม พบว่าการรับประทานขมิ้นชันสกัดที่ขนาดต่ำกว่า 8 กรัมต่อวัน ไม่ทำให้เกิดพิษต่อผู้ป่วยและยังส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

       ขมิ้นชันสกัดกับโควิด-19
       ผลการวิจัยที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับขมิ้นชันและพืชต่างๆอีก 14 ชนิด โดยพบว่า ขมิ้นชัน มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมการแพร่ขยายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในห้องทดลอง โดยนักวิจัยสกัดสารจากพืชที่สามารถยับยั้งการทำงานของ SARS-CoV-2 Chymotripsin-Like Protease (3CLPro) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแพร่ขยายของไวรัสโควิด-19

       จากการวิจัยในห้องปฏิบัติการ ปรากฎว่าสารสกัดรวมจากขมิ้น (Curcuma longa) เหง้ามัสตาร์ด (Brassica nigra) และวอลล์ร็อกเก็ต (Diplotaxis erucoides subsp. Erucoides) ที่ความเข้มข้น 500 ไมโครกรัมต่อ mL แสดงผลยับยั้งการทำงานของ 3CLPro ส่งผลให้กิจกรรมโปรตีเอสมีเหลือตกค้างเพียง 0.0% 9.4% และ 14.9% ตามลำดับ

       นอกจากนี้ยังพบผลจากงานวิจัยที่ทำการวิจัยในคน (Clinical Trial) ที่ทำการศึกษาเพื่อประเมินผลลัพธ์จากการใช้ขมิ้นชันในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งที่มีอาการหนักและอาการเบา พบว่า การเสริมการรักษาผู้ป่วยโควิด ด้วยการใช้ขมิ้นชันสกัด สามารถช่วยบรรเทาอาการป่วย ลดระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาล และลดอัตราการตายของผู้ป่วยลง อย่างมีนัยสำคัญ โดยพบผลที่แสดงให้เห็นว่า การใช้ขมิ้นชันสามารถบรรเทาภาวะการอักเสบจากพายุไซโทไคน์ (Cytokine Storm Effects) ที่เกิดจากการอักเสบอย่างรุนแรงของเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อไวรัส และส่งผลต่อภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวรุนแรงเฉียบพลันได้อย่างมีนัยสำคัญ การเสริมการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยขมิ้นชัน จึงอาจเป็นอีกทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

       ขมิ้นชัน กับคุณสมบัติในการปกป้องตับและภาวะคอเลสเตอรอล
       โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver disease: NAFLD) เป็นโรคที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นโรคที่มีความสัมพันธ์กับระบบทางเมตาบอลิก เช่น เบาหวาน ไขมัน และภาวะอ้วนลงพุงซึ่งมีความชุกเพิ่มขึ้นในประชากรไทย เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้นและไม่มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ในระยะยาวอาจก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และอาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งตับในอนาคตได้ จากการสืบค้นงานวิจัยพบว่า ขมิ้นชัน มีประสิทธิภาพในการลดไขมันสะสมในตับในผู้ป่วย NAFLD โดยมีฤทธิ์ลดภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดไขมันพอกตับ ร่วมกับการปรับปรุงการทำงานของระบบเมตาบอลิสมของไขมันในตับ เป็นผลให้การสะสมไขมันในเซลล์ตับลดลง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ป้องกันความเสียหายของตับจากภาวะ NAFLD ผ่านฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และลดการอักเสบ

       งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการรับประทานขมิ้นชันหรืออาหารเสริมจากขมิ้นชันที่มีสารเคอร์คิวมินอยด์ในปริมาณที่เหมาะสมต่อวันอาจเป็นประโยชน์ต่อการลดระดับไขมันรวมและเพิ่มระดับไขมันชนิดดีในเส้นเลือด จากการศึกษาประสิทธิภาพสารเคอร์คิวมินอยด์ต่อระดับไขมันรวม ไขมันชนิดไม่ดี ไขมันชนิดดี และไตรกลีเซอไรด์ในผู้ป่วยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 75 คน โดยให้รับประทานสารเคอร์คิวมินอยด์ 3 ขนาด แบ่งรับประทาน 3 ครั้งต่อวัน ได้แก่ ปริมาณน้อย 15 มิลลิกรัมต่อวัน ปริมาณปานกลาง 30 มิลลิกรัมต่อวัน และปริมาณสูง 60 มิลลิกรัมต่อวัน ผลพบว่าการรับประทานสารเคอร์คิวมินอยด์ในปริมาณน้อยต่อวันช่วยลดระดับไขมันชนิดไม่ดีและไขมันรวมได้มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการรับประทานสารเคอร์คิวมินอยด์ในปริมาณปานกลางและมาก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดีสูงสุดเช่นกัน

       ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาสารเคอร์คิวมินอยด์ต่อการลดระดับไขมันในผู้ป่วยภาวะอ้วนลงพุง 65 คน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมัน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ โดยได้ผลในทิศทางเดียวกัน ผู้ป่วยกลุ่มแรกรับประทานสารสกัดเคอร์คูมิน 630 มิลลิกรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับผู้ป่วยอีกกลุ่มที่รับประทานยาหลอก โดยแบ่งรับประทาน 3 ครั้งต่อวันทั้ง 2 กลุ่ม นาน 12 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า กลุ่มที่รับประทานสารสกัดขมิ้นชันมีระดับไขมันชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ลดลง ส่วนไขมันชนิดดีเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อน้ำหนักตัวและระดับน้ำตาลในเลือด

       ขมิ้นชันสกัดกับโรคซึมเศร้า
       บทความวิชาการตีพิมพ์เมื่อเดือน กุมภา 65 ที่ผ่านมา ได้รวบรวมผลการวิจัยจำนวนหลายงาน โดยมีงานวิจัยที่ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างผู้มีอาการซึมเศร้า 6 ใน 7 งาน พบว่าขมิ้นชัน มีประสิทธิผล ช่วยต้านอาการซึมเศร้าได้ ไม่ว่าจะใช้เป็นการรักษาหลัก หรือใช้เสริมยาต้านอาการซึมเศร้าในการวิจัยทดลอง ตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจที่ทำในกลุ่มตัวอย่างคนไทยจำนวน 65 คน โดยให้ขมิ้นชัน เสริมกับยาต้านเศร้า พบว่า สามารถลดอาการซึมเศร้าได้ และลดลงอย่างเห็นได้ชัดในสัปดาห์ที่ 12 และ 16 โดยพบผลเด่นชัดในกลุ่มตัวอย่างเพศชาย

       ขมิ้นชันกับโรคเบาหวาน
       ผลจากการวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าสารเคอร์คิวมินอยด์ที่พบในขมิ้นชัน อาจช่วยลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคเบาหวานหรือป้องกันผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงของโรค จากการศึกษาสรรพคุณของขมิ้นชันต่อการป้องกันโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ในผู้ที่มีภาวะเสี่ยงโรคเบาหวาน 240 คน เปรียบเทียบกับยาหลอก เป็นระยะเวลา 9 เดือน หลังจบการทดลองพบว่า กลุ่มที่รับประทานสารเคอร์คิวมินอยด์ ตรวจไม่พบผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในขณะที่กลุ่มรับประทานยาหลอกวินิจฉัยพบโรคเบาหวานประมาณ 16.4% จึงเชื่อว่าสารเคอร์คิวมินอยด์ในขมิ้นชันอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคเบาหวาน

       ทำไมต้องรับประทานขมิ้นชันสกัดควบคู่กับสารสกัดจากพริกไทยดำ
       ปกติภายหลังจากที่เรารับประทานขมิ้นชันเข้าไปแล้ว พบว่าสารเคอร์คิวมินอยด์ (Curcuminoid) จะหลงเหลืออยู่ในกระแสเลือดในปริมาณเพียงเล็กน้อย และถือว่าน้อยมากๆ ในแง่ของการดูแลสุขภาพ ข้อสันนิษฐานคือตับของเราทำงานได้เป็นอย่างดีผ่านกระบวนการเผาผลาญยา (drug metabolism) และการขจัดยาออกจากร่างกาย (drug excretion) จนขจัดสารเคอร์คิวมินอยด์ทิ้งไปนั่นเอง แต่เมื่อทานพริกไทยดำเข้าไป ทำให้กระบวนการต่างๆ ข้างต้นถูกยับยั้ง จึงทำให้สารเคอร์คิวมินอยด์ในกระแสเลือดมีเหลือจนทำให้ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น โดยในพริกไทยดำมีสารสำคัญ คือ พิเพอรีน (Piperine)  ที่สามารถยับยั้งการเผาผลาญยา วงจรนี้จะหยุดไป เมื่อเรากินขมิ้นชันสกัดพร้อมกับพริกไทยดำสกัดนั่นเอง

       โดยจากการทดลองในมนุษย์พบว่าเมื่อรับประทานขมิ้นชันสกัดพร้อมกับรับประทานสารสกัดพริกไทยดำ มีผลทำให้ชีวะประสิทธิผลของสารเคอร์คิวมินอยด์ เพิ่มขึ้น 20 เท่า ที่เวลา 45 นาที หลังจากรับประทาน จึงสรุปการทดลองได้ว่าการที่เรารับประทานขมิ้นชันซึ่งมีสารเคอร์คิวมินอยด์เข้าไปพร้อมกับพริกไทยดำที่มีสารพิเพอรีน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแสดงสรรพคุณของขมิ้นชันสกัด ซึ่งก็คือจะทำให้การหวังผลในการดูแลสุขภาพ เป็นไปได้ตามผลลัพธ์ที่ต้องการ

 
        สรุป
        จากผลการรวบรวมข้อมูลคุณประโยชน์และสรรพคุณของขมิ้นชันที่เป็นสมุนไพรใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณจนกระทั่งปัจจุบัน ยิ่งมีความนิยมแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งต่อมามีการศึกษาวิจัยมากขึ้นในด้านฤทธิ์ทางชีวภาพของขมิ้นชัน โดยเฉพาะสารเคอร์คิวมินอยด์ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง และฤทธิ์ต้านเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซม์เมอร์ ซึ่งสารเคอร์คิวมินอยด์แสดงฤทธิ์เหล่านี้ได้ทั้งหมด และให้ผลสอดคล้องกับตำรับยาแผนโบราณที่นำขมิ้นชันไปรักษาโรคต่าง ๆ ขมิ้นชันจึงเป็นสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความเป็นพิษต่ำ และมีผลวิจัยในมนุษย์ที่ทดสอบประสิทธิภาพในการรักษาโรคได้เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้